ปรับปรุงล่าสุด 22 ธ.ค. 2021 09:40:47 875

 ประวัติความเป็นมา

        ตำบลดู่ เดิมชื่อตำบลใหญ่ ซึ่งแยกออกมาจากตำบลกู่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 โดยนายมี วงษ์วานิช กำนันตำบลกู่ เป็นประธานสภาตำบล นายเสรี ศรีชัย (ครู) เป็นเลขานุการ นายเกิด คำเสียง ผู้ใหญ่บ้านหนองคู หมู่ที่ 10 ตำบลกู่ ในสมัยนั้นได้ร่วมกับ นายมอญ ทองดี ผู้ใหญ่บ้านดู่ หมู่ที่ 8 นายดาว อักษร ผู้ใหญ่บ้านหนองหิน หมู่ที่ 9 และนายบุญมี สีสัน ผู้ใหญ่บ้านหนองครอง หมู่ที่ 4 และนายบุญ ทองก่ำ ผู้ใหญ่บ้านไฮน้อย หมู่ที่ 3 โดยนายเกิด คำเสียง เป็นผู้เสนอในที่ประชุมสภาให้แยกตำบลดู่ออกจากตำบลกู่ ผลปรากฏว่าปลายปี พ.ศ. 2521 กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติผลการแยกตำบลดู่ ออกจากตำบลกู่ มีนายเกิด คำเสียง เป็นกำนันตำบลดู่ ต่อมาก็ได้เลือกแพทย์ประจำตำบล ผลการเลือกได้ นายทองดี สีสัน เป็นแพทย์ประจำตำบลคนแรกและมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านละ 2 คน เป็นทีมงาน
        ต่อมาจึงได้มีการก่อตั้งสภาตำบลขึ้น ตามคำสั่งคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 326 ซึ่งเขียนบัญญัติไว้ว่าตำบลหนึ่งให้มีสภาตำบล 1 แห่ง ให้กำนันเป็นประธานสภาตำบล ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน และแพทย์ประจำตำบล เป็นกรรมการสภาตำบลโดยตำแหน่ง แต่ละหมู่บ้านให้เลือกกรรมการสภาตำบล ผู้ทรงคุณวุฒิ หมู่บ้านละ 1 คน ครูโรงเรียนประชาบาลจำนวน 1 คน เป็นเลขานุการ ปลัดอำเภอ 1 คน เป็นตัวแทนของนายอำเภอ เจ้าหน้าที่ 4 กระทรวงหลัก เป็นทีมงาน และเป็นพี่เลี้ยงผู้ให้คำแนะนำร่วมกันปลัดอำเภอ 
        ตำบลดู่ มี 13 หมู่บ้าน ประกอบด้วย  
    1. บ้านดู่ หมู่ที่ 1 
    2. บ้านหนองหิน หมู่ที่ 2
    3. บ้านหนองคู หมู่ที่ 3
    4. บ้านหนองครอง หมู่ที่ 4
    5. บ้านดู่น้อย หมู่ที่ 5
    6. บ้านหนองแวง หมู่ที่ 6
    7. บ้านขาม หมู่ที่ 7
    8. บ้านอาวอย หมู่ที่ 8
    9. บ้านกระบุงดู่กลาง หมู่ที่ 9
    10. บ้านอาวอยตะวันตก หมู่ที่ 10
    11. บ้านกระหวัดหนองคู หมู่ที่ 11
    12. บ้านหนองหาน หมู่ที่ 12
    13. บ้านดอกประดู่ หมู่ที่ 13
จำนวนประชากร ทั้งหมด 4,844 คน   
    ชาย 2,427  คน
    หญิง 2,417 คน 
 

องค์การบริหารส่วนตำบลดู่

        เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ถ่ายโอนมาจากสภาตำบลเมื่อปี พ.ศ. 2540 ตามพรบ. สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล โดยมีนายเกิด คำเสียง กำนันตำบลดู่ เป็นประธานกรรมการบริหารส่วนตำบล
ตามบทเฉพาะ มีวาระสองปี ต่อมาได้รับเลือกคณะกรรมการบริหารให้เป็นประธานกรรมการต่ออีกสองปี
จนถึงปี พ.ศ. 2544 หมดวาระจึงให้ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งบริหารหมู่บ้านละ 2 คน เลือกกันเองเป็นประธานกรรมการบริหารและยกระดับเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ผลการเลือกของ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลให้นายสมพงษ์ โสดา เป็นประธานกรรมการบริหารส่วนตำบล เป็นผู้บริหารคนที่ 2 และหมดวาระในปี พ.ศ. 2548 
        ปี พ.ศ.2548 กระทรวงมหาดไทย ได้ปรับปรุงกฎหมายขึ้นมาใหม่ ให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารคือนายกองค์การบริหารส่วนตำบลจากราษฎรโดยตรง ส่วนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) หมู่บ้านละ2 คน ก็ให้เลือกตั้งจากราษฎรเหมือนเดิม ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2548 ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดเป็นอันดับ 1 จากผู้สมัคร 3 คน คือนายวราคม แก้วพิกุล เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล คนที่ 3
หมดวาระในปี พ.ศ.2552 ปัจจุบันมีนายสมพงษ์ โสดา เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลดู่ คนที่ 4 ได้รับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2552 ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี 
สถานที่ตั้งสภาตำบล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล 
สภาตำบลดู่ หรือองค์การบริหารส่วนตำบลดู่ เดิมตั้งอยู่ในบริเวณวัดโนนดู่ เมื่อปี พ.ศ. 2524 เนื่องจากเจ้าอาวาสวัดในสมัยนั้นขอร้อง ให้ตั้ง ณ ที่ดังกล่าว เพื่อทางวัดจะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน เมื่อคราวจำเป็น ต่อมาเมื่อมีการยกระดับเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งมีพนักงานเจ้าหน้าที่รวมทั้งผู้บริหารและสมาชิกหลายคน จึงเห็นว่าคับแคบ แออัด ไม่เหมาะสม สภาองค์การบริหารส่วนตำบลก็มีมติให้สร้างอาคารที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลและขออนุมัติใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ป่าหนองกระแชง เป็นที่ปลูกสร้าง และใช้เป็นสถานที่ราชการตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2545)

เส้นทางการคมนาคม

        ตำบลดู่ มีเส้นทาง สำหรับใช้ในการเดินทาง ทั้งในระดับหมู่บ้าน – ตำบลและอาคานตำบลอยู่ 3 ระดับ ดังนี้
     1. ถนนสายบ้านดู่ - เข้าสู่อำเภอปรางค์กู่ - ไปจังหวัดศรีสะเกษ เป็นถนนลาดยาง
     2. ถนนสายบ้านกู่ - หนองคู – หนองหาน – หนองกระบุง –ดู่กลาง –ดู่น้อย – ขาม – สะแกสน เป็นถนนลำลอง พาดยาวสามารถออกต่างอำเภอต่างจังหวัดได้ เช่น ออกจากหนองคู - ไปบ้านกู่สามารถไปสำโรงทาบ – ห้วยทัน – ขุขันธ์ – ศรีสะเกษ - สุรินทร์ มีราดยางบางส่วน นอกนั้นอยู่เป็นถนนลูกรังหินคลุก
     3 สายบ้านดู่ - อาวอย – หนองเหล็ก – สะเอิง – สนาย เป็นถนนออกสู่ตัวอำเภอปรางค์กู่ - จังหวัดศรีสะเกษ – ไปสุรินทร์ ตลอดสายยังไม่มีการลาดยาง แต่ยังเป็นถนนคันลูกรัง/หินคลุก ยังใช้ไม่ได้สะดวกตลอดฤดูกาล
     4. ถนนสายสี่แยกหนองกระแชง ตำบลดู่ - หนองหิน - หนองครอง - ขาม เป็นถนนลาดยางบางส่วน และส่วนมากยังเป็นถนนดินลูกรัง/หินคลุกยังใช้การไม่สดวกบางช่วง
     5. ถนนสายบ้านอาวอยหมู่ที่ 8 – บ้านอาวอยตะวันตก หมู่ที่ 10 หนองคู – หมู่ที่ 3 บ้านหนองหาน หมู่ที่ 12 – บ้านใฮ้น้อย หมู่ที่ 3 ตำบลกู่ เป็นถนนดินลูกรัง/หินคลุก เป็นถนนสายหนึ่งสามารถออกไปสังขะและสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ แต่ยังเป็นถนนที่อยู่ในสภาพธุระกันดารมาก ไม่สามารถใช้การได้ตลอดปี
     6.  ถนนสายบ้านดู่น้อย ตำบลดู่ - ไปบ้านสำโรงตำบลหนองแวง กิ่งอำเภอศรีณรงค์ จังหวัดสุรินทร์
เป็นถนนหินคลุกตลอด สายสามารถใช้สัญจร ออกไปนายอำเภอ – จังหวัดได้ทุกฤดูกาล
     7. ถนนสายสี่แยก หนองกระแชง – ไปบ้านหนองครอง (ถนนไทยสะเทือนเป็นถนนดินที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา ไม่สามารถใช้สัญจรได้ในหน้าฤดูฝนต้องใช้เส้นทางอื่นแทน
     8. ถนนสายหินหนองหิน – หนองแวง ตำบลดู่ - บ้านโนนดัง ตำบลพิมายเป็นถนนคันลูกรัง/หินคลุกตำบลดู่ - หนองตลาด ตำบลโพธิ์ศรี เป็นถนนหินคลุก พอใช้การได้
     9. ถนนสายบ้านหนองหิน ตำบลดู่ - หนองตลาด ตำบลโพธิ์ศรี เป็นถนนหินคลุก พอใช้การได้
     10. ถนนในหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน ที่ราษฎรใช้สัญจรไปมาติดต่อกันระหว่างหมู่บ้าน ต่อหมู่บ้าน ล้วนยังเป็นถนนดินไม่ได้รับการพัฒนาปรับปรุง จึงไม่สามารถใช้ในการสัญจรไปมาหาสู่กันได้ โดยเฉพาะฤดูจะถูกตัดขาดโดยสิ้นเชิง

ภาษา

        คนในตำบลดู่ มีภาษาพูด ที่เป็นภาษาหลัก ๆ อยู่ 4 ภาษา เช่น ภาษาส่วย ภาษาลาว (ไทยอีสาน)ภาษาเขมร และภาษาไทยกลาง ภาษาที่เป็นภาษาหลักมี 2 กลุ่ม 2 ภาษา คือ ภาษาส่วย ประกอบด้วย บ้านหนองคู หมู่ที่ 3 บ้านหนองหานหมู่ที่ 12 บ้านอาวอยหมู่ที่ 10 บ้านอาวอยหมู่ที่ 8 บ้านดู่ หมู่ที่ 1 บ้านดอกประดู่ หมู่ที่ 13 บ้านกระหวัดหนองคู หมู่ที่ 11 บ้านหนองกระบุงดู่กลางหมู่ที่ 9 บ้านขามหมู่ที่ 7 บ้านดู่น้อย หมู่ที่ 5 
        ภาษาเขมร ประกอบด้วย บ้านหนองครอง หมู่ที่ 4 บ้านหนองหิน หมู่ที่ 2 บ้านหนองแวง หมู่ที่ 6 ส่วนอีก 2 ภาษา คือ ภาษาลาว (ไทยอีสาน) และภาษาไทยกลางจะมีแทรกผสมอยู่ทุกหมู่บ้านลักษณะประปราย

ประเพณีและวัฒนธรรม 

        ประเพณีและวัฒนธรรมของชาวตำบลดู่ ทั้งส่วยและเขมรตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ หรือคนรุ่นก่อนที่เป็นปู่ย่าตายายได้สืบทอดกันมา เช่น รำแม่มด ฝีฟ้า มโหรี (ดนตรีของคนโบราณ) การเซ่นบวงสรวง ตามศาลปู่ตา ซึ่งมีกันทุกบ้านในเดือน 3 เดือน 6 จะมีเป็นประจำ เพราะถือว่าเมื่อได้เซ่นสรวงจะทำให้อยู่สุขกายสบายใจ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ส่วนรำแม่มด ฝีฟ้า นิยมเล่นเพื่อปัดเป่ารังควานอาการป่วยไข้ หรือดำรงไว้ซึ่งเป็นการสืบทอดจากบรรพบุรุษ ให้มั่นคงและยืนยาว ถึงลูกหลานรุ่นหลังสืบต่อไป 
        มโหรี ถือเป็นดนตรีที่สืบทอดวัฒนธรรมดังกล่าวมาช้านานมีเครื่องเล่นหลายอย่างประกอบด้วย กลอง – ฉิ่ง – ซอ – ตะไล (ปี่) บางวงอาจมีมากกว่านี้ และมีคนหลายคนเป็น 1 คณะอย่างน้อย 8 คนขึ้นไป
        วงมโหรี มีไว้เพื่อเล่นบรรเลง ในงานศพ แห่ศพออกไปสู่เมรุ แห่งานกฐิน ผ้าป่า และอื่น ๆ เท่าที่จำเป็นและต้องการในส่วนของประเพณีแต่ละเดือน ในรอบปี จะมีไม่ขาดเช่น เดือน 3 บุญขวัญ แม่โพสพ (ข้าวเปลือกหรือบุญข้าวจี) เดือน 4 (พระเวชสันดรชาดก) เดือน 5 บุญสงกรานต์ เดือน 7 บุญบั้งไฟ เดือน 8
เข้าพรรษา เดือน 10 บุญข้าวสาก เดือน 11 บุญออกพรรษา เดือน 12 บุญกฐิน และบางปีบางครั้งอาจมีมากเพิ่มขึ้นกว่าที่กล่าวแล้วก็ได้ แล้วแต่สถานการณ์ หรือความจำเป็น